สวิตช์ คีย์บอร์ด แต่ละสีบ่งบอกอะไร

สวิตช์ คีย์บอร์ด แต่ละสีบ่งบอกอะไร

สวิตช์ คือหัวใจหลักของคีย์บอร์ดรุ่นต่าง ๆ ครับ เพราะการทำงานของแป้นพิมพ์ทุกรุ่นทุกระบบนั้นไม่ต่างกันเมื่อกดปุ่มไปแล้วกลไก”สวิตช์ (Switch)”ข้างใต้ปุ่มเหล่านั้นจะทำงานและทำการส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังคอมพิวเตอร์ว่ากำลังกดปุ่มอะไรอยู่ ซึ่งประเภทของคีย์บอร์ดต่าง ๆ นั้นจะถูกแยกและแบ่งตามประเภทของสวิตช์นั่นเอง แต่คีย์บอร์ดทั่วไปนั้นมีสวิตช์ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขได้ หรือพูดง่าย ๆ คือทำขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพื่อรองรับการใช้งานที่ต้องการการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงความถนัดในการใช้งานของผู้ใช้ที่หลากหลาย จึงได้เกิดการพัฒนาคีย์บอร์ดกลไกหรือ Mechanical Keyboard ที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งสวิตช์เหล่านั้นได้เองครับ


โดยสวิตช์คีย์บอร์ดสำหรับ Mechanical Keyboard ที่คุ้นตาคนไทยมาก ๆ ก็คงจะเป็น MX switch หรือสวิตช์ ที่มีหน้าตาเป็นรูปเครื่องหมาย + นั่นเองครับ โดยต้นตำหรับนั้นผลิตโดยบริษัท Cherry ของเยอรมัน แต่หลังจากสิทธิบัตรหมดอายุก็ทำให้มีหลาย ๆ บริษัทพัฒนาสวิตช์ออกมาในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน และเพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภคบริษัทส่วนมากจึงพัฒนาสินค้าตามทางที่รุนพี่อย่าง Cherry ทำไว้ก่อนหน้าคือการใช้ “สี” ในการระบุความแตกต่างของสวิตช์ นั่นเองครับ


สวิตช์สำหรับ Mechanical Keyboard นั้นจะแบ่งออกไปได้ 3 แนวหลัก ๆ ดังนี้

Clicky Switch 

Clicky Switch

Clicky สวิตช์คีย์บอร์ดที่จะมีเสียงเวลากดชัดเจนซึ่งให้อารมร์วินเทจเหมือนเครื่องพิมพ์ดีด รวมไปถึงใครก็ตามที่พิมพ์ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวจะรู้สึกมันมือจนอยากพิมพ์งานของตัวเองตลอดเวลา ซึ่งสีของสวิตช์ตระกูลนี้ก็จะมีสี “ฟ้า (Blue)” “ขาว (White)” และ “เขียว (Green)” ซึ่งแต่ละสีนั้นจะให้น้ำหนักในการกดไม่เท่ากันอันเกิดจากความแข็งของสปริงนั่นเองครับโดยไล่จาก อ่อนสุดไปแข็งสุดตามลำดับ แต่แม้ว่าจะเป็นสปริงแบบอ่อนก็ตามแต่สวิตช์ที่ตระกูล Clicky ก็จะมีสัมผัสในการกดที่ค่อนข้างหนักกว่าแบบอื่น ๆ อยู่ดี โดยที่ตัวที่เป็นที่นิยมของสวิตช์กลุ่มนี้คือ Blue หรือสีฟ้านั่นเองครับ หากใครอยากรู้ว่าคีย์บอร์ดรูปแบบนี้มีหน้าตาแบบไหน มียี่ห้ออะไรน่าสนใจบ้างก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ คีย์บอร์ดบลูสวิตช์ ได้เลยครับ เราคัดมาให้แล้ว

Linear Switch 

Linear Switch

ก็ตามชื่อเลยครับ ไลน์เนอร์ก็คือสวิตช์ที่เสมือนเส้นตรงเมื่อกดลงไปจะให้สัมผัสแบบลื่นปริ๊ดหัวแตกแบบไม่มีเบรคสวิตช์กลุ่มนี้จะรับรู้ถึงแรงกระแทกไม่ค่อยได้ครับโดยจะมีสี “แดง (Red)” “ดำ (Black)” และ “เทา (Linear Grey)” ซึ่งความแข็งของสปริงก็จะเรียงลำดับจากอ่อนสุดไปแข็งสุดตามลำดับเช่นกันครับ สวิตช์คีย์บอร์ดกลุ่มนี้เป็นที่นิยมของนักเล่นเกมครับเพราะให้ความรู้สึกและสัมผัสที่รวดเร็ว คล่องแคล่วทำให้รู้สึกเหมือนตอบสนองสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นนั่นเองครับ สำหรับสวิตช์กลุ่มนี้จะมีสียอดนิยมคือ แดงและดำครับ ขึ้นอยู่กับความชอบว่าอยากจะได้น้ำหนักประมาณไหนนั่นเอง

Tactile Switch 

Tactile Switch

เป็นสวิตช์แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั่นเองครับ มีความฝืน ๆ ฝืด ๆ แบบ Clicky แต่ไม่มีเสียงแบบ Linear ซึ่งมักจะเป็นสวิตช์ที่คนทั่วไปเลือกใช้กันเพราะชัดเจนทั้งเรื่องการสัมผัส และไม่สร้างความรำคาญให้คนรอบตัวนั่นเองครับซึ่งสีของสวิตช์กลุ่มนี้จะได้แก่ “น้ำตาล (Brown)” “ใส (Clear)” และ “เทา (Tactile Grey)” ซึ่งคนส่วนมากจะนิยมตัว Brown มากที่สุดครับ


อันที่จริงแล้วยังเหลือสวิตช์คีย์บอร์ดอีกหลายรุ่นหลายสีที่ยังไม่ได้พูดถึงครับรวมไปถึงสวิตช์ ที่พัฒนาระบบเก่า ๆ มาให้เทียบเคียง Mechanical Keyboard อย่าง Razer Mecha-Membrane เป็นต้น แต่สำหรับสวิตช์ ที่เล่นกันมากในประเทศไทยส่วนมากก็จะเป็นตระกูล MX นี่แหละครับ นอกจากนี้แล้วสวิตช์นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีเกณฑ์ในการดูไม่ต่างอะไรจากที่กล่าวมาทั้งนั้นได้แก่ ประเภท (Clicky, Tactile, Linear) ความแข็งของสปริง และประเภทของเสียงหลังกด (ดังมาก-น้อย) เท่านั้นเอง ฉะนั้นหากผู้อ่านพบเจอสวิตช์ ที่แตกต่างกันออกไปเพียงแค่รู้จักความแตกต่างพื้นฐานของสวิตช์เหล่านี้ก็สบายแล้วครับ สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก Mechanical Keyboard ทางทีมงาน Mercular.com ได้จัดเตรียมบทความให้อ่านเรียบร้อยแล้ว  ดูต่อที่นี่